Log in to access resources reserved for MDRT members.
  • เรียนรู้
  • >
  • การระบาดของโรคโควิด-19 ได้เปลี่ยนความต้องการของลูกค้าในด้านประกันภัยอย่างไรบ้าง
การระบาดของโรคโควิด-19 ได้เปลี่ยนความต้องการของลูกค้าในด้านประกันภัยอย่างไรบ้าง
การระบาดของโรคโควิด-19 ได้เปลี่ยนความต้องการของลูกค้าในด้านประกันภัยอย่างไรบ้าง

ส.ค. 30 2565

การระบาดของโรคโควิด-19 ได้เปลี่ยนความต้องการของลูกค้าในด้านประกันภัยอย่างไรบ้าง

การระบาดของโรคโควิด-19 เข้ามาเป็นเครื่องเตือนใจว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญอย่างแท้จริง และทำให้ผู้คนหันมาจัดลำดับความสำคัญในชีวิตใหม่ ทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เพื่อปรับการปฏิบัติของคุณให้เข้ากับความต้องการของลูกค้า

หัวข้อที่ครอบคลุม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดของโรค COVID-19 ได้เข้ามาตอกย้ำถึงความสำคัญของการประกันภัย โดยเฉพาะการประกันสุขภาพ และแน่นอนว่าความมั่นคงทางการเงินก็มีค่าไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในกรณีที่มีการติดเชื้อ COVID-19 โดยประเภทประกันที่แพร่หลายและเป็นที่นิยมที่สุดในช่วงปี 2563 และ 2564 คือ ประกันสุขภาพ อย่างไรก็ตามที่ปรึกษาไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะความต้องการและลำดับความสำคัญทางด้านประกันทั้งก่อนและหลังยุคโควิดนั้นหลากหลายมากและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นที่ปรึกษาทางการเงินจึงจำเป็นต้องปรับตัวและตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูงเช่นนี้ 

การเติบโตของอุตสาหกรรมประกันภัยในประเทศไทย 

GlobalData บริษัทข้อมูลและการวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมประกันภัยของประเทศไทยจะเติบโตที่ 4.7% ต่อปี หรือประมาณ 36.1 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2569 โดยรายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมประกันภัยทั้งหมดของประเทศจะนำโดยกลุ่มประกันชีวิตและบำเหน็จบำนาญ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 69.3% ของเบี้ยประกันภัยรับขั้นต้น (Gross Written Premiums: GWP) ในปี 2564 

นักวิเคราะห์การประกันภัยอาวุโสของ GlobalData, Rakesh Raj กล่าวว่า “อุตสาหกรรมประกันภัยของประเทศไทยเติบโต 3.0% ในปี 2564 หลังจากลดลง 0.2% ในปี 2563 เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากผลกระทบของ COVID-19 โดยอุตสาหกรรมประกันจะพร้อมสำหรับแนวโน้มการเติบโตที่สูงขึ้นตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ซึ่งขับเคลื่อนโดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ความตระหนักด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น และประชากรสูงอายุของประเทศที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน เหล่านี้เป็นปัจจัยหลักในการปลุกกระแสความต้องการด้านผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตและสุขภาพ”  

การแปลงทางดิจิตอลของอุตสาหกรรมประกันภัย 

“กระแสของ Personalization นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ และ Digitalization กำลังได้การตอบรับที่ดีในอุตสาหกรรมประกันชีวิตของประเทศไทย” Raj กล่าวเสริม ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า บริษัทประกันชั้นนำในประเทศกำลังเร่งพัฒนาประสิทธิภาพของระบบดิจิตอล เพื่อให้ทันกับแนวโน้มและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีการนำเสนอโซลูชันออนไลน์ให้กับลูกค้า เช่น แอปพลิเคชันในการเซ็นเอกสารออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตออนไลน์โดยไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัว เป็นต้น  

ลูกค้าที่ซื้อประกันมองหาช่องทางดิจิตอลและมือถือเพื่อโต้ตอบกับที่ปรึกษามากกว่าการพบปะแบบตัวต่อตัว ซึ่งแพลตฟอร์มดิจิตอลต่าง ๆ ทำให้สามารถตรวจสอบข้อเสนอประกันภัยและพูดคุยกับที่ปรึกษาได้จากระยะไกล โดยสมาชิก MDRT คุณวรรณวิมล หมอกมาก กล่าวว่า “ถ้าเป็นเครื่องมือที่ปรับใช้ในช่วงสถานการณ์โควิด จะมีเรื่องการคุยผ่าน LINE แล้วตอนหลังก็จะมีเรื่องของการแชร์ข้อมูลหรือประชุมทาง LINE และการจัด meeting ผ่าน Zoom โดยการนำเสนอกับลูกค้าผ่าน Zoom Application ส่วนในเรื่องของการ update ที่เราจะสื่อสารกับลูกค้า ส่วนตัวของดิฉันเองก็จะใช้ LINE OA ที่เราจะให้ข้อมูลข่าวสารกับลูกค้า ซึ่งรวมถึง application ของทางบริษัทด้วย ตอนนี้เพียงปลายนิ้วเหมือนที่ดิฉันบอก ลูกค้าก็สามารถเช็คผลประโยชน์ของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นทุนประกัน สามารถ claim ที่ไหนได้บ้าง ผลประโยชน์ของเขาเป็นอย่างไร จะใช้โรงพยาบาลคู่สัญญาที่ไหน เพียงใช้ application ดังกล่าว แล้วก็ทำให้ลูกค้าสะดวกมากขึ้นด้วย” 

ลำดับความสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไป 

การระบาดของโรคโควิด-19 เข้ามาเป็นเครื่องเตือนใจว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญอย่างแท้จริง และทำให้ผู้คนหันมาจัดลำดับความสำคัญในชีวิตใหม่ พฤติกรรมลูกค้าช่วงโรคระบาด และผลกระทบทั่วไปของ โควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมประกันภัย สามารถวิเคราะห์ได้โดยการประเมินสิ่งที่ลูกค้าระบุว่าเป็นสิ่งที่สำคัญต่อพวกเขาในช่วงปี 2564 และไม่น่าแปลกใจเลยที่ 51% ของผู้ตอบแบบสอบถามจาก Mahanakorn Partners จัดลำดับให้การประกันสุขภาพเป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดในการประกันของพวกเขา รองลงมาคือประกันโรคร้ายแรงและเงินก้อน (41%) และประกันชีวิต (40%) โดยแนวโน้มการจัดลำดับความสำคัญนี้น่าจะขึ้นอยู่กับภัยคุกคามของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน 

สมาชิก MDRT คุณศรีจันทร์ พัฒนานิตย์ ถือคติการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงจากมุมมองของลูกค้า เพื่อขยายโอกาสในการนำเสนอโซลูชันประกันภัย “โอกาสที่ได้รับจากวิกฤตครั้งนี้ที่เห็นได้ชัดคือมุมมองของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เพราะวิกฤตทำให้คนที่เขาไม่เคยเห็นคุณค่า กลับมาเห็นคุณค่าที่แท้จริงกับการประกันชีวิต หันมาสนใจวางแผนประกันชีวิตและสอบถาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุขภาพ เรื่องโรคร้าย และส่วนเรื่อง WFH เป็นการที่เราไม่ออกจากบ้านนาน ๆ นั้นเป็นการทดสอบการเกษียณที่ดีมาก ทำให้เราได้ทบทวนว่าวันที่เราเกษียณจริง ๆ จะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งบางคนยังไม่ได้เตรียมเงินไว้ยามเกษียณเลย เราจึงมีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับเขาเรื่องการวางแผนเกษียณให้กับลูกค้าหลาย ๆ รายในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา”   

ปรับแนวทางการปฏิบัติของคุณ 

ในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้ม พฤติกรรมของลูกค้า และความต้องการของพวกเขาที่มาจากผลกระทบของโรค โควิด-19 เป็นสิ่งสำคัญที่ที่ปรึกษาทางการเงินต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวและเปลี่ยนแปลงแนวทางการปฏิบัติให้เข้ากับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และยุคสมัย  

อุตสาหกรรมประกันภัยนำเสนอบริการที่ครบครันสำหรับบุคคลและบริษัทในการป้องกันตนเองจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด โดยการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของการทำประกันตนเองจากสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน และเข้ามาช่วยสร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในการคุ้มครองตนเองด้วยการประกันภัย ดังนั้นที่ปรึกษาควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาได้รับการศึกษาเกี่ยวกับโซลูชันการประกันภัยที่ดีที่สุดเพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า โดยวิธีที่มีประโยชน์ในการหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสัญญาประกันภัยที่เหมาะสมที่สุด คือ การสำรวจแนวโน้มในตลาดอย่างละเอียดและถี่ถ้วนพร้อมปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์อยู่เสมอ 

สมาชิก MDRT คุณวิชิต มุ่งวิชา กล่าวถึงความสำคัญของการปรับตัวว่า “สถานการณ์โควิด-19 ทำให้การเปลี่ยนแปลงมาเร็วมาก ลูกค้าบางคนยังปรับตัวยังไม่ได้ ธุรกิจมีปัญหา แผนการเงินที่วางแผนไว้ต้องหยุดชะงักไป บางคนก็ยกเลิกแผนการเงินเพื่อเอาเงินออกมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน นั่นหมายความว่าผลประโยชน์ที่ได้จากการวางแผนการเงิน นักวางแผนการเงินก็จะไม่ได้ด้วย นักวางแผนการเงินที่ชินกับการที่จะต้องเสนอแผนการเงินแบบเจอตัว ก็จะปรับตัวไม่ทันหรือไม่ปรับตัว บางคนถึงกับต้องหยุดทำงานชั่วคราวเพื่อเรียนรู้ระบบการขายแบบออนไลน์ หรือบางคนหยุดทำงานไปเลยเนื่องจากกลัวติดโควิด บริษัทที่ขายสินค้าทางการเงินที่เตรียมแผนสู่สังคมดิจิตอลไว้แล้วว่าจะเริ่มใช้ 2-3 ปีข้างหน้า ก็นำแผนมาใช้เร็วกว่ากำหนดไว้ ทำให้นักวางแผนการเงินต้องปรับวิธีการทำงาน เพื่ออยู่ให้ได้ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น” 

Contact: MDRTeditorial@teamlewis.com