Log in to access resources reserved for MDRT members.
  • เรียนรู้
  • >
  • พัฒนาช่องทางโซเชียลมีเดียของคุณอย่างไรให้เกิดการบอกต่อแบบพาสซีฟ

เม.ย. 05 2565

READ 00:00:50

พัฒนาช่องทางโซเชียลมีเดียของคุณอย่างไรให้เกิดการบอกต่อแบบพาสซีฟ

เราทุกคนมีช่องทางโซเชียลมีเดีย แต่เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อยกระดับช่องทางเหล่านั้นขึ้นไปอีกขั้น เพื่อให้เราสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในชีวิตการทำงานของเราได้ สมาชิก MDRT คุณณัฐพร พงศ์ประพันธ์ศิริ ร่วมแบ่งปันเคล็ดลับการพัฒนาช่องทางโซเชียลมีเดียของคุณอย่างไรให้เกิดการบอกต่อแบบพาสซีฟ

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า โซเชียลมีเดียอย่าง Facebook Instagram TikTok YouTube หรือเว็บเพจต่าง ๆ ได้เข้ามามีอิทธิพลในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก โลกออนไลน์ที่เปิดกว้างขึ้นทำให้การติดต่อสื่อสารและการส่งต่อข้อมูลง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น ทุกคนสามารถเข้าถึงได้เพียงแค่มีโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดียก็ทำให้คนธรรมดา ๆ โด่งดังในชั่วข้ามคืนได้ 

ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่าสิ่งเหล่านี้เข้ามาเป็นปัจจัยที่ห้าของเราไปเรียบร้อยแล้ว เพราะนอกจากจะทำให้เราใช้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น เพลิดเพลิดพักผ่อนหย่อนใจได้ง่ายขึ้น มันยังช่วยเราทำงานอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีตัวแทนหลายคนใช้โซเชียลมีเดียเป็นผู้ช่วยในการทำงาน 

จากสถิติ Global Digital Report 2021 เผยรายงานล่าสุดเรื่องสถิติการใช้งานโซเชียลมีเดียทั่วโลก พบว่า มีผู้ใช้งาน 4.48 พันล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 500 ล้านคนในเวลาเพียงหนึ่งปี ส่วนคนไทยใช้โซเชียลมีเดียเป็นอันดับหนึ่งของโลก ดังนั้น ในฐานะตัวแทนประกันหรือผู้ปรึกษาทางการเงิน หากเราต้องการสื่อสารกับคนกลุ่มใหญ่ การใช้โซเชียลมีเดียจึงมีความจำเป็นอย่างมาก คุณสามารถเริ่มจากสิ่งที่ง่าย ๆ เช่น LINE@ และค่อย ๆ เติบโตไปเรื่อย ๆ ได้ 

สร้างตัวตนในโลกออนไลน์ 

เพราะกรุงโรมไม่ได้สร้างสำเร็จภายในวันเดียว ก่อนที่จะเริ่มต้นสื่อสารกับคนหมู่มากในโลกออนไลน์ เราจึงจำเป็นจะต้องสร้างตัวตนขึ้นมาก่อน มิเช่นนั้นผู้ที่ได้รับสารก็จะสงสัยว่าข้อมูลนี้มาจากใครและข้อมูลดังกล่าวเชื่อถือได้หรือไม่ ดังนั้น เราควรรู้เรา รู้เขา และรู้เนื้อหาที่เราจะพูดเสียก่อน 

1. รู้เรา: ต้องรู้จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง เช่น ความเชี่ยวชาญของเรา สิ่งที่เราถนัด หรือหัวข้อที่เรายังไม่เคยแตะมันมาก่อน

2. รู้เขา: ต้องรู้กลุ่มเป้าหมายของเราบนโลกออนไลน์ว่าพวกเขาเป็นใครและพวกเขาอยากได้ยินอะไรจากเรา 

3. รู้เนื้อหา: ต้องรู้จักการสร้างคอนเทนต์ สร้างเรื่องราว หรือโยงจากเหตุการณ์ปัจจุบัน เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาอ่าน ซึ่งต้องมีทั้งคุณภาพและความสม่ำเสมอ 

โซเชียลมีเดียไม่ใช่พื้นที่ปิดการขาย แต่เป็นพื้นที่โฆษณา 

อาชีพอื่น ๆ อาจปิดการขายได้ภายในไม่กี่วินาทีบนโซเชียลมีเดีย แต่ในฐานะตัวแทนและผู้ปรึกษาทางการเงิน พื้นที่ตรงนี้อาจไม่ใช่พื้นที่ที่เหมาะสม ผู้ติดตามหรือผู้รับสารคนอื่น ๆ อาจมองว่าเราขายมากเกินไปจนกลายเป็นความรู้สึกถูกยัดเยียดและทำให้เขามองตัวตนในโลกออนไลน์ของเราในแง่ลบ 

ส่วนตัวแล้ว ช่วงแรก ๆ ใช้ Facebook เพียงอย่างเดียวในการสื่อสารให้เพื่อนหรือคนรู้จักทราบว่าเราคือใคร ทำอะไร อย่างไร อยู่ที่ไหน และตอกย้ำสม่ำเสมอ เพื่อสร้าง Awareness หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ สื่อสารผ่าน Instagram เว็บเพจ และ LINE เรื่องที่โพสต์ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมที่ตัวเองทำ ซึ่งบางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับงานที่เราทำแต่ยังมีความเชื่อมโยงกันอยู่ หรืออาจเป็นความรู้ที่ตัวเองถนัดอย่างเรื่องสุขภาพ  

หลังจากที่สร้างตัวตนให้กับคนรู้จักแล้ว เราก็สร้างเพจแยกออกเมื่อสองปีก่อน เพื่อเป็นอีกช่องทางสำหรับการสื่อสารให้ความรู้เรื่องที่อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน เช่น หากเราพูดถึงสามเหลี่ยมทางการเงิน ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่นำมาพูดถึงได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงคอยเขียนบทความด้านสุขภาพในแง่มุมต่าง ๆ ที่ไม่ได้ยากหรือลึกจนเกินไป  

สิ่งที่ได้กลับมาจากการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียอย่างมีคุณภาพและมีความสม่ำเสมอคือ ภาพลักษณ์ ตัวตน ความชัดเจน และความน่าเชื่อถือ แน่นอนว่า ระยะเริ่มต้นมีคนเข้ามาสนใจกด Like หรือกด Share โพสต์ของเราแบบนับนิ้วได้ แต่เพราะเรามีความสม่ำเสมอในการโพสต์และเนื้อหาของเราไม่ได้เน้นการขายมากจนเกินไป จึงทำให้มีคนสนใจเพิ่มขึ้นเอง นอกจากนี้ โพสต์ของเรายังช่วยเปิดมุมมองและเพิ่มมุมบวกให้กับลูกค้าบางกลุ่ม ตอกย้ำการทำงานและการอยู่ในอาชีพให้กับลูกค้าของเราหรือคนที่เฝ้ามองเราอยู่  

จะรู้ได้อย่างไรว่าเกิดการบอกต่อ 

โพสต์แต่ละโพสต์บนโซเชียลมีเดียจะกระจายต่อด้วยตัวเองหากเนื้อหาน่าสนใจมากพอ เราควรภูมิใจและตื่นเต้นหากมีลูกค้าหรือคนแปลกหน้า ‘มาส่อง’ โปรไฟล์ของเรา เพราะนั่นหมายความว่า เนื้อหาที่เราร้อยเรียงและโพสต์อย่างสม่ำเสมอนั้นสามารถเรียกให้เขาสนใจเราได้ จากประสบการณ์ส่วนตัวพบว่า มีลูกค้ามาจากทางออนไลน์ถึง 40% เนื่องจากพวกเขามองเห็นเราในโลกออนไลน์บ่อยจากการที่เราโพสต์อย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งเนื้อหาที่โพสต์ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกถูกยัดเยียดมากเกินไป 

ทั้งนี้ อาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่าผู้ที่สนใจจะกลายเป็นผู้มุ่งหวัง และอาจใช้เวลาเป็นเดือนกว่าผู้มุ่งหวังจะกลายเป็นลูกค้า เพราะการที่คนเราจะตัดสินใจให้ใครมาดูแลตลอดทั้งชีวิตนั้นต้องใช้เวลา ดังนั้น การสื่อสารที่สม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก  

ทราบดีว่า การพบลูกค้าในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นไปได้ยาก จึงขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนสมาชิก MDRT ทุกท่านในการฝ่าฟันไปให้ได้ และหากอยากเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับอาชีพของคุณในช่วงเวลาแบบนี้ การสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ให้เกิดการบอกต่อก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจทีเดียว 

 

 

Contact: MDRTeditorial@teamlewis.com