Log in to access resources reserved for MDRT members.
  • เรียนรู้
  • >
  • เปิดเคล็ดลับสุดพิเศษในการเปลี่ยนอุปสรรคให้เป็นโอกาส
เปิดเคล็ดลับสุดพิเศษในการเปลี่ยนอุปสรรคให้เป็นโอกาส
เปิดเคล็ดลับสุดพิเศษในการเปลี่ยนอุปสรรคให้เป็นโอกาส

ส.ค. 15 2565

เปิดเคล็ดลับสุดพิเศษในการเปลี่ยนอุปสรรคให้เป็นโอกาส

เป็นเรื่องธรรมดาที่คุณอาจรู้สึกท้อแท้เมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรค แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเรียนรู้ที่จะเอาชนะความท้าทายและเปลี่ยนมันให้กลายเป็นโอกาสในการเติบโต

หัวข้อที่ครอบคลุม

บางครั้งการนำเสนอการขายหรือผลิตภัณฑ์ อาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป หลายครั้งผู้ปรึกษาทางการเงินต้องคอยรับมือกับคำปฏิเสธและอุปสรรคต่าง ๆ นานาระหว่างทาง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ที่ปรึกษาจะไม่หลีกเลี่ยงความท้าทาย แต่น้อมรับอุปสรรคต่าง ๆ และเรียนรู้วิธีเปลี่ยนมันให้เป็นโอกาสในการเติบโตและพัฒนาความชำนาญในหน้าที่การทำงานของคุณ การมองว่าความพ่ายแพ้เป็นโอกาสเมื่อคุณอยู่ท่ามกลางวิกฤตเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เมื่ออยู่ในสถาณการเหล่านั้น เป็นเรื่องธรรมดา ที่คุณจะไม่สามารถคิดได้อย่างชัดเจน และเมื่อคุณคิดไม่ชัดเจน คุณก็มักจะมองข้ามโอกาสที่แอบแฝงอยู่ในอุปสรรคเช่นกัน เพราะคุณอาจไม่พร้อมที่จะเปิดรับโอกาสเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม ยิ่งคุณมีเวลาทบทวนมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งมองเห็นสิ่งเหล่านั้นอย่างมีเหตุผลมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อคุณพร้อม คุณควรใช้เวลาในการทำสิ่งต่อไปนี้ 

1. เดินหน้าต่อไป  

เมื่อคุณต้องประสบกับอุปสรรค การเดินหน้าต่อไปจะทำให้คุณสามารถรักษาความมุ่งมั่นและสุขภาพจิตที่ดีเอาไว้ได้ จากผลวิจัยพบว่า การไม่ยอมแพ้สามารถช่วยบรรเทาความเครียดจากความผิดหวังและเป็นวิธีง่ายๆ ในการเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดี  

นอกจากนี้การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ก็ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเดินหน้าต่อไป โดยสมาชิก MDRT คุณพรทิพย์ พานแก้ว เล่าถึงการเปลี่ยนสถานการณ์โควิดให้เป็นโอกาสว่า “เรารีบผันตัวเองมาทำการตลาดออนไลน์ทันที ยิ่งบริษัทมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ช่วยซัพพอร์ตในการนำเสนอและส่งใบสมัครโดยไม่ต้องพบลูกค้าแล้ว วิกฤตินี้จึงกลายเป็นโอกาสที่เราจะได้ดูแลลูกค้าและคนที่เรารักให้ไวที่สุด คติประจำใจของเราในตอนนี้คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้เราไปถึงตัวลูกค้า ก่อนไวรัสโควิด-19จะไปถึง” 

2. ปรับทัศนคติใหม่ 

วิธีที่คุณนิยามความหมายของอุปสรรคต่าง ๆ บ่งบอกว่าคุณตอบสนองต่ออุปสรรคเหล่านั้นอย่างไร ใน TED Talk นักจิตวิทยาสังคม Alison Ledgerwood เคยเน้นย้ำว่าทัศนคติของเรามักจะติดอยู่ในเชิงลบ ดังนั้น เรา "ต้องตั้งใจเพื่อที่จะเห็นข้อดี" โดยเธออธิบายวิธีหนึ่งที่จะทำเช่นนี้ได้ คือการตระหนักว่าคนส่วนมากมักจะหมกมุ่นอยู่กับข้อเสียของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น คุณมีแนวโน้มที่จะคิดถึงความผิดหวังของคุณมากกว่าความสำเร็จของคุณ เป็นต้น เมื่อยอมรับแนวโน้มนี้ได้ คุณจะสามารถฝึกฝนการปรับทัศนคติของคุณให้ไปในแง่บวกมากขึ้น ดังนั้น แทนที่จะมองว่าอุปสรรคเป็นความล้มเหลว ให้พยายามคิดว่านี่เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง 

3. ประเมินเป้าหมายของคุณใหม่ 

ในขณะที่อุปสรรคทำให้เกิดความท้าทายที่แท้จริง แต่ก็ถือเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับคุณที่จะตั้งคำถามว่า เป้าหมายของคุณยังเหมาะกับวิสัยทัศน์ระยะยาวของคุณหรือไม่ คุณควรเปิดใจรับการเปลี่ยนแปลง และถามตัวเองว่า เกณฑ์มาตรฐานที่คุณตั้งให้กับตัวเองคุ้มกับอุปสรรคที่ต้องแลกมาหรือไม่ หรือมีเป้าหมายอื่น ๆ ที่คุณต้องการมุ่งเน้นความสนใจและทรัพยากรของคุณแทน โดยการประเมินผลประโยชน์ด้านต้นทุนจะสามารถช่วยคุณวางกลยุทธ์ได้อย่างตรงจุดยิ่งขึ้น อย่าลืมว่าเป้าหมายของคุณควรมีความยืดหยุ่น และสามารถนำมาปรับให้เข้ากับความต้องการและสถาณการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ 

4. นับทุกความสำเร็จของคุณ  

ความมั่นใจในตนเองได้รับผลกระทบมากที่สุดหลังจากประสบความผิดหวัง อย่างไรก็ตาม มันก็มีวิธีลดผลกระทบต่อความมั่นใจนั้น โดยในหนังสือ Option B ของนักจิตวิทยาชื่อดัง Adam Grant ได้เผยว่า เราควรให้ความสำคัญกับผลงานและความสำเร็จของเรา เพราะจะเป็นการเตือนใจว่าสิ่งที่เราทำนั้นมีพลังในการสร้างความแตกต่าง 

โดยสมาชิก MDRT คุณวิชิต มุ่งวิชา กล่าวถึงว่าทำไมการสร้างความแตกต่างจึงเป็นแรงบันดาลใจในการช่วยเขาฝ่าฝันความท้าทายต่าง ๆ ได้ “ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ มันเกิดจากการที่เรามีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าสิ่งที่เราต้องการคืออะไร ทำไปทำไม ทำเพื่อใคร ทำไมต้องทำเดี๋ยวนี้ เป็นคำพูดที่ใครหลาย ๆ คนเคยได้ยินมาแล้ว บางคนทำแล้วล้มเลิก บางคนทำได้สำเร็จ ที่สำคัญคือเราควรส่งต่อความสำเร็จด้วยกัน มาสร้างนักวางแผนการเงิน ระดับ MDRT ด้วยกัน ตัวเราเองอาจจะสร้างผลกระทบเชิงบวกในวงจำกัด แต่ถ้าเราสร้างนักวางแผนการเงิน MDRT ได้ 1 คน อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง เช่น ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้น ครอบครัวเขาดีขึ้น เพื่อนเขาหมดกังวล ครอบครัวเพื่อนหมดกังวล เพื่อนของเพื่อนหมดกังวล ครอบครัวเพื่อนของเพื่อนหมดกังวล ฯลฯ” 

5. เปลี่ยนคำปฏิเสธของคุณให้เป็นข้อตกลง 

“ธุรกิจประกันชีวิตคือ no business ลูกค้ามักจะตอบ No มากกว่า Yes ถามว่าเพราะอะไร เพราะลูกค้าที่ยังไม่เข้าใจ ก็คงยังไม่ตัดสินใจอะไรบางอย่าง” สมาชิก MDRT คุณเอกศักดิ์ นาคสกุล กล่าว โดยสิ่งที่สำคัญไม่ใช่การหลีกเลี่ยงหรือกำจัดคำปฏิเสธ แต่เป็นการทำความเข้าใจกับคำปฏิเสธเหล่านั้น เพื่อที่จะเปลี่ยนมันให้กลายเป็นข้อตกลง “การเข้าใจถึงเหตุผลที่ลูกค้าปฏิเสธ ทำให้เราสามารถไปต่อในธุรกิจประกันชีวิตได้ โดยส่วนตัว ผมทำธุรกิจประกันชีวิตเพียงอาชีพเดียวมา 22 ปี โดยมีความเข้าใจว่า หากลูกค้า say yes กับเรา คือลูกค้ารู้จักเรา เชื่อเรา และก็ไว้วางใจเรา เขาจึงตัดสินใจทำ แต่ถ้าเกิดว่าลูกค้า say no กับเรา นั้นหมายความว่าลูกค้ายังไม่เข้าใจเราในสถานการณ์ใดสถานการณ์นึ่ง  สิ่งที่ผมหยิบยกมาเป็นประเด็นในการสนทนากับลูกค้าเสมอคือ ประโยชน์ของคุณอยู่ในหัวข้อการสนทนาของเราหรือไม่ เราย้อนกลับไปที่กระบวนการนำเสนอของลูกค้าว่า เราได้นำเสนออย่างถูกต้องตามขั้นตอน ประโยชน์ของเขาได้สมประโยชน์หรือไม่ หากเราเข้าใจถึงประเด็นนี้แล้ว ทำให้ลูกค้ามีความรู้เรื่องของประกันชีวิตมากที่สุด ลูกค้าจะไม่ปฏิเสธการทำประกันชีวิตกับผมอย่างแน่นอน” คุณเอกศักดิ์ กล่าวเสริม 

ไม่มีใครไม่เคยประสบกับอุปสรรคหรือความพ่ายแพ้ ดังนั้น แทนที่จะปล่อยให้ความผิดหวังเหล่านั้นกีดขวางเส้นทางสู่ความสำเร็จของคุณ คุณควรดึงพลังงานใหม่ และสร้างแรงบันดาลใจจากความท้าทายที่คุณต้องเผชิญ การเรียนรู้วิธีตอบสนองต่ออุปสรรคอาจเป็นจุดเปลี่ยนระหว่างการติดอยู่ในชีวิตประจำวันเดิม ๆ กับความเจริญรุ่งเรืองในอาชีพของคุณก็เป็นได้  

Contact: MDRTeditorial@teamlewis.com