ม.ค. 20 2566
การเรียนรู้จากประสบการณ์ในปี 2565 สามารถช่วยส่งเสริมอาชีพของคุณในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินในปี 2566 ได้อย่างไร
โดย ฝนทอง ชุรินทรพรรณ (Fonthong Churinthonphan)
หัวข้อที่ครอบคลุม
ภาพรวมของปี 2565 สำหรับอาชีพปรึกษาและนักวางแผนการเงิน
ปี 2565 ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่ท้าทายสำหรับภาคธุรกิจ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือวงการธุรกิจการวางแผนการเงินและการประกัน โดยรายงานจากสมาคมประกันชีวิตไทย พบว่า ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 อยู่ในระดับที่ชะลอตัว จากการได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจอย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาแยกกลับพบว่า ประกันภัยสุขภาพเติบโตเพิ่มขึ้น
ร้อยละ 9.15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2564 ซึ่งหลัก ๆ มาจากการที่ประชาชนเริ่มตระหนักให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและการทำประกันสุขภาพมากขึ้น รวมถึงประกันบำนาญที่เป็นเครื่องมือการเงินประเภทหนึ่งที่ช่วยสร้างวินัยทางการออมให้มีฐานะการเงินที่เพียงพอต่อความเป็นอยู่ในช่วงเกษียณ
สภาวการณ์ดังกล่าวคือควาจริงที่สะท้อนให้เห็นผ่านประสบการณ์ที่ สมาชิก MDRT คุณสุภารัตน์ ศรีสันติสุข ประสบ โดยคุณสุภารัตน์ ได้แชร์มุมมองภาพรวมของปี 2565 ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ว่าในปีนี้ที่ปรึกษาทางการเงินต้องปรับตัวและหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพราะลูกค้าหวังพึ่งพาที่ปรึกษาทางการเงินในการช่วยจัดการสินทรัพย์เงินออมให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบด้าน
“ส่วนตัวมองว่าในปี 2565 ที่ปรึกษาทางการเงินในประเทศไทยมีบทบาทมากขึ้นกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา เนื่องจากคนตระหนักถึงความเดือดร้อนจากการไม่วางแผนการเงิน หรือวางแผนการเงินแบบไม่เป็นระบบ เช่น เผื่อเงินสดสำรองฉุกเฉินน้อยเกินไป เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ ทำให้แปลงเป็นเงินสดได้ช้า หรือ ไม่ได้ซื้อประกันสุขภาพ เป็นต้น ประกอบกับเมื่อคนและบริษัทต่าง ๆ เริ่มปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันได้ เริ่มมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นบ้าง นายจ้างที่มีการลดเงินเดือนพนักงานก็กลับมาจ่ายเท่าเดิม เศรษฐกิจเริ่มหมุนเวียนดีขึ้น จึงทำให้คนนึกถึงการวางแผนการเงินอย่างเป็นระบบมากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาที่เคยเจอมาในอดีตเกิดขึ้นอีก” คุณสุภารัตน์ กล่าว
เรียนรู้ และ รับมือ
แน่นอนว่าเมื่อผู้คนให้ความสำคัญการวางแผนการเงินมากขึ้น ที่ปรึกษาทางการเงินก็ย่อมได้รับการติดต่อทักมาขอคำปรึกษา หรือการต้องออกไปพบเจอลูกค้าใหม่ ๆ กระทั่งกลายเป็นหน้าที่ของที่ปรึกษาต้องรับผิดชอบในแผนอนาคตของลูกค้า ซึ่งคุณสุภารัตน์ให้มุมมองต่อสถานการณ์นี้ว่า “ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ที่คนตื่นตัวเกี่ยวกับอนาคตทางการเงินของตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนสุขภาพ โดยถ้าอายุไม่เกิน 35 ส่วนใหญ่จะเป็นการขอคำแนะนำว่าควรเริ่มต้นวางแผนด้านไหนก่อนดี ถ้าอายุมากกว่านั้น จะเป็นให้ช่วยประเมินความเหมาะสมของแผนการเงินด้านต่าง ๆ ที่พวกเขาเตรียมไว้ ทั้งแผนประกันชีวิต สุขภาพ โรคร้ายแรง รวมถึงการลงทุนด้านต่าง ๆ”
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ลูกค้าที่ตระหนักถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป และกระตือรือร้นในการวางแผนการเงินให้พอใช้จนถึงบั้นปลายชีวิต ในทำนองเดียวกัน ที่ปรึกษาทางการเงินก็ย่อมพบเจอความท้าท้าย และจำเป็นที่จะต้องรู้เท่าทันตัวเองและรับมือกับความเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งปรับตัวเพื่อให้สามารถช่วยเหลือลูกค้าในการให้คำแนะนำและวางแผนการเงินให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่
สมาชิก MDRT คุณสุภารัตน์ กล่าวว่า “ความท้าทายสำคัญของตัวเองในปีนี้ จะเป็นเรื่องการจัดสรรเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิผลสูงสุด เนื่องจากปีนี้ทำหลายบทบาท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้คำปรึกษาลูกค้า ทีมงาน การจัดระบบภายในของทีม การศึกษาหลักสูตรภายนอกองค์กร การเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชน การแบ่งเวลาให้ครอบครัวและทำกิจกรรมส่วนตัว ในช่วงแรกที่ยังจัดสรรเวลาไม่ได้ก็รู้สึกเครียด ผลงานออกมาไม่ค่อยดี แต่พอนำหลักการ 4 Ds of Time Management ได้แก่ Do, Defer (Delay), Delegate, and Delete (Drop) มาใช้ และรับผู้ช่วยมาเพิ่ม ก็ช่วยให้จัดการเรื่องนี้ได้ดีขึ้น”
ทำงานอย่างสม่ำเสมอ
การมีวินัยในตัวเองเป็นหนึ่งในกุญแจแห่งความสำเร็จ คำกล่าวนี้เป็นจริงเสมอและใช้ได้กับคนทุกอาชีพ ที่ปรึกษาและนักวางแผนการเงินก็เช่นเดียวกัน เพราะอาชีพที่ปรึกษาทางการเงินเป็นอาชีพอิสระ สามารถกำหนดเวลาการทำงานเองได้ คุณสุภารัตน์เองก็เป็นหนึ่งในคนที่ต้องคอยกระตุ้นและสร้างวินัยให้แก่ตัวเองเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่คนเราสามารถติดต่อกันได้ทุกที่ ทุกเวลา
“การ keep momentum ให้ทำงานอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่สามารถ work from home และติดต่อกับลูกค้าทางออนไลน์ได้ ทำให้บางทีอยากจะทำงานอยู่ที่บ้านมากกว่า จึงต้องกระตุ้นตัวเองว่า การเจอตัว face to face จะทำให้การพูดคุยเข้าใจได้มากขึ้นเพราะจะเห็นสีหน้าท่าทางและอารมณ์ของลูกค้า ได้ข้อมูลละเอียดขึ้น สร้างความไว้ใจและประทับใจให้แก่ลูกค้าได้มากกว่า” คุณสุภารัตน์ กล่าว
และเมื่อพูดถึงความสม่ำเสมอที่ควรมีต่อตนเองแล้ว ที่ปรึกษาควรแสดงออกถึงความสม่ำเสมอให้ประจักษ์แก่ลูกค้าด้วย เช่น การไถ่ถามและให้คำปรึกษาโดยไม่เร่งเร้าปิดการขายที่อาจสร้างความอึดอัดใจให้แก่ลูกค้าที่ยังไม่พร้อมวางแผนการเงินกับเราได้ เช่นเดียวกับประสบการณ์ตรงของ คุณสุภารัตน์ ที่ลูกค้าหวนกลับมานึกถึงและเลือกให้เป็นที่ปรึกษาภายหลังจากที่รู้จักกันนานกว่า 5 ปี “ลูกค้าบอกความในใจว่า ที่ผ่านมามีคนชวนทำประกันมากมาย แต่เค้าตัดสินใจเลือกเราตั้งแต่วันแรกที่คุยกันแล้ว ยิ่งเค้าเริ่มศึกษายิ่งรู้สึกว่าเราให้คำแนะนำชัดเจน ไม่เร่งเร้า ปรับให้ตรงกับความต้องการและความเหมาะสมของเค้าและลูก เหตุการณ์นี้ทำให้เรารู้สึกว่า การติดต่อ ให้คำแนะนำลูกค้าด้วยความจริงใจอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เราเป็นคนแรกที่เค้านึกถึงเมื่อมีความพร้อม” คุณสุภารัตน์ กล่าวเสริม
เก่งกว่าตัวเองในปีที่ผ่านมา
เหนือสิ่งอื่นใด เราควรแบ่งเวลามานั่งตกตะกอนและมองย้อนดูผลงานที่ผ่านมาตลอดทั้งปีว่าจุดใดคือสิ่งที่ทำได้ดีหรือความถนัด ที่สามารถนำไปต่อยอดและผลักดันสู่ความสำเร็จอีกขั้นได้ ในขณะเดียวกันก็ควรมองหาจุดที่อาจจะต้องการการเรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อทำให้เราเก่งกว่าเราคนเดิมในปีที่ผ่านมา
โดยสมาชิก MDRT คุณสุภารัตน์ เล่าถึงการทำงานในปีนี้และช่องทางในการพัฒนาศักยภาพในปีหน้าว่า “ในปีที่ผ่านมาสิ่งที่คิดว่าทำได้ดีคือการพัฒนาทีมงานให้มีคุณภาพมากขึ้น มีการส่งเสริมให้ทีมงานได้เรียนรู้หลักสูตรข้างนอกบริษัท ทั้ง Hard Skill และ Soft Skill มีการนำโปรแกรมการวางแผนการเงินระดับสากลมาใช้ และวางระบบการทำงานในองค์กรใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เอื้อต่อการทำงานของทีมงานให้มากที่สุด อย่างไรก็ตามยังคงต้องพัฒนาในเรื่องการสร้าง Personal Brand ของตัวเองและทีมงานให้ชัดเจนและเน้นช่องทางดิจิทัลมากขึ้น เพื่อให้คนเกิดการจดจำ สร้างความน่าเชื่อถือและนำไปสู่การตัดสินใจใช้บริการมากขึ้นในอนาคต”
“การสร้างคุณค่าให้แก่ตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อปกป้องตัวเองจากการโดน disrupt จาก digital platform ต่าง ๆ เราต้องมีแรงมีพลังในการทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าที่ยังต้องการคำแนะนำที่มีประโยชน์ เพื่อสุดท้ายแล้วประเทศไทยจะได้กลายเป็นสังคมที่ทุกคนมีพื้นฐานการเงินที่แข็งแรง พร้อมปรับตัวเพื่อความอยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์” สมาชิก MDRT คุณสุภารัตน์ กล่าวทิ้งท้าย
Contact: MDRTeditorial@teamlewis.com